ธุรกิจ Me Too โลกในมุมมองของ Value Investor โดย ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
ธุรกิจ Me-Too
ธุรกิจหรือผลิตภัณฑ์ที่คนชอบทำเลียนแบบก็คือธุรกิจที่กำลังร้อนแรงในช่วงเวลานั้นที่จะต้องมีการเติบโตที่รวดเร็วหรือเป็นกระแสที่จะเติบโตไปในอนาคตตามเมกกะเทรนด์ของโลกหรือของไทย เป็นกิจการที่ทำกำไรดีและเมื่อสำเร็จก็จะมีความมั่นคงต่อเนื่องไม่ใช่สินค้าโภคภัณฑ์ที่มีราคาขึ้นลงตลอดเวลา
ส่วนมากก็จะเป็นสินค้าในเศรษฐกิจใหม่หรือไม่ถูก Disrupt โดยเทคโนโลยีได้ง่าย และที่สำคัญก็คือ เป็นธุรกิจที่ “ทำได้ง่าย” ในแง่ที่ว่าการผลิตและการให้บริการไม่ซับซ้อนไม่ต้องใช้เทคโนโลยีสูง การตลาดก็เปิดกว้าง
ผู้ขายหรือหรือให้บริการรายใหม่สามารถขายแข่งกับผู้ให้บริการรายเก่าได้เท่าเทียมกันทั้ง ๆ ที่มาทีหลังหรือมีขนาดเล็กกว่ามาก ไม่มีใครได้เปรียบรายอื่นมากกว่ากันเท่าไรนัก หรือบ่อยครั้งก็ไม่จำเป็นต้องทำการตลาดเลยเพราะมีผู้ซื้อพร้อมอยู่แล้ว
หากฟังอย่างผิวเผินก็อาจจะรู้สึกว่านั่นคือธุรกิจที่ควรทำเป็นอย่างยิ่ง เพราะทุกอย่าง “ดีและง่ายไปหมด” และเมื่อประกาศทำ ราคาหุ้นก็อาจจะวิ่งขึ้นไปมากมาย และนั่นก็เป็นเหตุผลว่าทำไมจึงมีบริษัทจดทะเบียนจำนวนไม่น้อยที่ทำธุรกิจ “Me-Too” และเจ้าของก็ “รวยไปเลย” แต่นั่นก็อาจจะไม่จริง
โดยเฉพาะในระยะยาว เพราะธุรกิจที่ทำนั้น ในไม่ช้าก็อาจจะพบว่าไม่ได้ดีอย่างที่คิด และแม้แต่บริษัทที่เคยเติบโตและทำกำไรได้ดีก็เริ่มแย่หรือตกต่ำลง กำไรที่เคยดีนั้นอาจจะเกิดขึ้นเนื่องจากระบบการคิดต้นทุนที่ไม่ได้สะท้อนความเสี่ยงเท่าที่ควรหรือคิดต้นทุนที่ผิดพลาด
หรือสถานการณ์ทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไปโดยที่ในช่วงต้นคนที่ทำธุรกิจนั้นอาจจะดีแต่เมื่อมีคนเข้ามาทำแข่งมากขึ้นในลักษณะ Me-Too การเติบโตและกำไรก็อาจจะหายไป หรือในกรณีที่เป็นสินค้าหรือบริการใหม่ในประเทศไทยที่เลียนแบบต่างประเทศก็อาจจะพบว่าคนส่วนใหญ่ที่เข้ามาในธุรกิจในที่สุดก็ล้มเหลว เป็นต้น
และเมื่อถึงเวลานั้น หุ้นที่เคยขึ้นไปสูงก็จะตกลงมาอย่างแรง คนที่เข้าไปเล่นหุ้นหรือลงทุนในธุรกิจที่เข้าไปทำธุรกิจ Me-Too ก็จะขาดทุนอย่างหนัก ดังนั้น สำหรับผมแล้ว ผมมักจะไม่ชอบหรือไม่ก็หลีกเลี่ยงหุ้นเหล่านั้น
สามารถอ่านเพิ่มได้ที่ tradestock24.com