โบรกฯจับตางบแบงก์ Q2/63 คาดกำไรทรุด-เสี่ยงสำรองเพิ่ม เซ่นโควิด
โบรกฯจับตางบแบงก์ Q2/63 คาดกำไรลดลงหนัก จากผลกระทบโควิด-19 ฉุดรายได้ดอกเบี้ย-รายได้ค่าธรรมเนียม ลดลงจากช่วงล็อคดาวน์ และมีความเสี่ยงสำรองเพิ่มหลังสิ้นสุดมาตรการพักชำระหนี้จากรัฐ
บล.ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี เผยผ่านบทวิเคราะห์ว่า ในวันที่ 13-20 ก.ค. นี้ การประกาศผลการดำเนินงานไตรมาส 2/63 ของกลุ่มธนาคาร คาดว่ากลุ่มธนาคารจะทำกำไรสุทธิรวม 3.19 หมื่นล้านบาท (-13% qoq, -27% yoy) เนื่องจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (NIM) ลดลงหลังมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยหลายครั้งนับตั้งแต่ไตรมาส 4/62 บวกกับรายได้ค่าธรรมเนียมได้รับผลกระทบในช่วงล็อคดาวน์
เราคาดว่า ธนาคารกรุงเทพ หรือ BBL จะมีกำไรเติบโตสูงที่สุด qoq จากการกลับรายการขาดทุนจากเงินลงทุนใน ไตรมาส 1/63 และมีอัตราการสำรองหนี้สูญทรงตัว ส่วน ธนาคารทหารไทย หรือTMB น่าจะมีกำไรเติบโตสูงที่สุด yoy จากการควบรวมกิจการ กับธนาคารธนชาต (TBANK) ในไตรมาส 4/62
บล.เคจีไอ ระบุผ่านบทวิเคราะห์ว่า กลุ่มธนาคารพาณิชย์ น้ำหนักลงทุน “เท่ากับตลาดฯ” ฝ่ายวิจัยฯคาดกำไรไตรมาส 2/63 ของกลุ่มฯจะลดลงหนัก จากผลกระทบของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยประเมิน กลุ่มที่ 1: ธนาคารกสิกรไทย (KBANK), TMB และ ธนาคารกรุงไทย (KTB) แนวโน้มจะได้รับผลกระทบมากสุด กลุ่มที่ 2: BBL และ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) จะได้รับผลกระทบน้อยกว่า และกลุ่มที่ 3: ธนาคารทิสโก้ (TISCO), ธนาคารเกียรตินาคิน ( KKP) คาดจะกลับได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของตลาดทุนในไตรมาสนี้
ประเมินปัจจัยลบต่างๆในขณะนี้ ยังกดดันภาวะการลงทุนของกลุ่มฯอยู่ อย่างไรก็ดีฝ่ายวิจัยฯประเมินการพักฐานของราคาหุ้นเป็นโอกาสสะสมอีกครั้ง สำหรับระยะสั้นเลือก TISCO , KKP เป็นหุ้นเด่น
บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) คาดว่ากระทรวงการคลังอาจขยายมาตรการพักชำระหนี้จาก 6 เดือน เป็น 2 ปี เพื่อรองรับกับสถานการณ์ COVID-19 ส่งผลให้กลุ่มธนาคารมี Downside Risk ของผลประกอบการที่ลดลง
ขณะที่ Bond Yield ที่เริ่มฟื้นตัวเป็นอีกปัจจัยบวกต่อกลุ่มธนาคาร รวมทั้ง Valuation ที่ค่อนข้างถูกที่ระดับ PBV เพียง 0.5 เท่า
ส่วน บล.เอเซีย พลัส ได้วิเคราะห์ Loan Payment Holiday หยุดการตกชั้นชั่วคราว เกี่ยวกับการชะลอการชำระหนี้ตามมาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แม้ภาพดังกล่าวชะลอการไหลตกชั้นช่วงไตมาส 2-3/63 แต่ช่วงหมด Loan payment holiday ต้องจับตาการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ หลังเปิดเมือง ว่าจะฟื้นตัวได้มากน้อยเพียงใด
ซึ่งส่งผลต่อเนื่องถึงความสามารถในการชำระหนี้ หากฟื้นตัวช้าและไม่มีมาตรการช่วยเหลือต่อมีโอกาสเห็นการไหลตกชั้นเป็น Stage 2 และ Stage 3 ในช่วงไตรมาส 4/63 ย่อมส่งผลถึงค่าใช้จ่ายสำรองของธนาคาร (Expected Credit Loss : ECL)
ขอบคุณข้อมูล efinancethai
ข่าวหุ้นสดใหม่ อัพเดตทุกวันที่นี่ tradestock24 ข่าวหุ้นไทย หุ้นต่างประเทศ ข่าวเศรษฐกิจ